ข้าวอินทรีย์ ข้าวคุณภาพดีจากชาวนาสุรินทร์

มาตรฐานเกษตรอินทรีย์

มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ สหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (International Federation of Organic Agriculture Movement : IFOAM) ให้คำนิยามของเกษตรอินทรีย์ ว่าเป็น “ระบบการเกษตรที่ผลิตอาหารและเส้นใยด้วยความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ โดยเน้นหลักการปรับปรุงบำรุงดิน การเคารพต่อศักยภาพทางธรรมชาติของพืช สัตว์ และนิเวศการเกษตร เกษตรอินทรีย์จึงลดการใช้ปัจจัยการผลิตภายนอก และหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีสังเคราะห์ เช่น ปุ๋ย สารกำจัดศัตรูพืช และเวชภัณฑ์สำหรับสัตว์ และในขณะเดียวกัน ก็พยายามประยุกต์ใช้ธรรมชาติในการเพิ่มผลผลิตและพัฒนาความต้านทานโรคของพืชและสัตว์เลี้ยง”

อินทรีย์ หรือ ออแกนิกส์ หมายถึง ผลผลิตจากระบบเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับ การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์จากหน่วยงานตรวจรับรองที่เชื่อถือได้ผู้ประกอบการ เกษตรอินทรีย์ ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดการตรวจรับรอง ที่ครอบคลุมตั้งแต่ แหล่งที่มา ของ(เมล็ด) พันธุ์และปัจจัยการผลิต(ปุ๋ยอาหารสัตว์ ยาป้องกันและรักษาโรคฯลฯ)วิธีการ ใช้ปัจจัยการผลิต วิธีการดูแลรักษา วิธีการป้องกันการปนเปื้อนจากสภาพแวดล้อม ซึ่งรวมถึงแหล่งผลิตแบบเคมีที่อยู่ข้างเคียง ตลอดไปถึงวิธีการเก็บเกี่ยวผลผลิต คัดแยก ทำความสะอาด เก็บรักษาผลิตผล การบรรจุขาย (ภาชนะบรรจุ ฉลากกำกับ) และการจัดการระหว่างขนส่ง ซึ่งรายละเอียดจะแตกต่างกันไป ตามขอบเขตและระบบมาตรฐานที่ขอรับรอง แต่มาตรฐานระดับสากลมีข้อกำหนดพื้นฐานที่ผู้ประกอบการทุกคนต้องปฏิบัติในทุกขั้นตอนการผลิตไปจนถึงมือผู้บริโภคโดยต้องไม่ใช้ปัจจัยการผลิตที่เป็นสารเคมีสังเคราะห์หรือสมุนไพรต้องห้าม เน้นการป้องกันศัตรูพืชและรักษาโรคสัตว์โดย คำนึงถึงระบบนิเวศ (ไม่เพิ่มปัญหาภาวะโลกร้อนที่ทำให้สภาพภูมิอากาศแปรปรวน เป็นต้น) มีการจดบันทึกกิจกรรมการผลิต ในทุกขั้นตอน และเก็บรักษาข้อมูล เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อน กลับได้(traceability) อย่างน้อย 5 ปี นอกจากนี้ยังรวมถึงการดูแลสวัสดิภาพของลูกจ้างในฟาร์มหรือโรงงานอย่างเป็นธรรม และดำเนินงานอย่างสอดคล้องกับประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วย รวมแล้วก็คือเป็นการอยู่ร่วมกันอย่างเอาใจใส่ระหว่าง มนุษย์ พืช สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในทุกขั้นตอน

ผลผลิตเกษตรปฐมอินทรีย์ หมายถึง กระบวนการผลิตที่เกษตรกรไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในการผลิตแปลงใดแปลงหนึ่งของพื้นที่ทั้งหมดที่เกษตรกรครอบครอง หรือการแบ่งพื้นที่บางส่วนทำการผลิตที่ไม่ใช้สารเคมีทุกชนิด

ผลผลิตเกษตรอินทรีย์ระยะการปรับเปลี่ยน หมายถึง ช่วงเวลาในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและความอุดมสมบูรณ์ของดิน โดยใช้เวลา 1-12 เดือน นับจากวันที่สมัครเข้าร่วมโครงการเกษตรอินทรีย์กับเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ ซึ่งต้องทำการผลิตแบบอินทรีย์ในพื้นที่ทั้งหมดที่เกษตรกรครอบครอง

ผลผลิตเกษตรอินทรีย์ มกท. (A.C.T. : Orgnic Agricuture Certification Thailand) หมายถึง ระบบการผลิตเกษตรอินทรีย์ที่เกษตรกรได้ทำการผลิตและผ่านกระบวนการเกษตรอินทรีย์มามากกว่า 12 เดือน ขึ้นไป หรือ 1 ปีขึ้นไปกระบวนการผลิตที่ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี และสารเคมีในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชในผลผลิตทุกชนิดหรือบางชนิดที่สามารถทำการผลิตได้โดยจะต้องเป็นผลผลิตคนละชนิดที่ทำการผลิตแบบเคมี และต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของมาตรฐานเกษตรอินทรีย์จากสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) รวมทั้งมาตรฐานที่เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์จังหวัดสุรินทร์กำหนดขึ้นด้วย

ผลผลิตเกษตรอินทรีย์อียู (EU) หมายถึง กระบวนการผลิตเกษตรอินทรีย์ มาตรฐานยุโรปที่เกษตรกรได้ทำการผลิตและผ่านกระบวนการเกษตรอินทรีย์มามากกว่า 24 เดือนหรือ 2 ปีขึ้นไป โดยอาจจะมีพืชต่างพันธุ์/ชนิดเป็นการผลิตคู่ขนานได้ (ระยะปรับเปลี่ยน 1-24 เดือน )

ผลผลิตเกษตรอินทรีย์ไบโอสวิส ( BIO SUISSE ) หมายถึง กระบวนการผลิต เกษตรอินทรีย์มาตรฐานกลุ่มสหภาพยุโรปที่เกษตรกรได้ทำการผลิตและผ่านกระบวนการเกษตรอินทรีย์มามากกว่า 24 เดือน หรือ 2 ปีขึ้นไป ในพืชทุกชนิดต้องเป็นการผลิตแบบห้ามผลิตคู่ขนาน และมีความหลากหลายในแปลงผลิต 7% ขึ้นไป (ระยะปรับเปลี่ยน 1-24 เดือน )

เกษตรอินทรีย์ นา โท แลนด์ ( Naturland) หมายถึง ระบบการผลิตเกษตรอินทรีย์ที่เกษตรกร ได้ทำการผลิตและผ่านกระบวนการเกษตรอินทรีย์มากกว่า 24 เดือน หรือ 2ปี ขึ้นไป ปัจจัยการผลิตที่ใช้ต้องไม่มาจากมูลสัตว์ปีก โดยต้องปรับเปลี่ยนทั้งฟาร์มเป็นอินทรีย์ (ต้องปรับเปลี่ยนทุกแปลงเป็นอินทรีย์ภายใน 5 ปีโดยเฉพาะ พืชที่ปลูกเพื่อยังชีพต้องมีแผนการปรับเปลี่ยน และหรือต้องมีมาตรฐานสังคม (Naturland Social Standards) ด้วย

เกษตรอินทรีย์ เอ็น โอ พี NOP: National Organic Program หมายถึง ระบบการผลิตเกษตรอินทรีย์ที่เกษตรกรได้ทำการผลิตและผ่านกระบวนการเกษตรอินทรีย์มามากกว่า 36 เดือน ขึ้นไป หรือ 3 ปีขึ้นไป ห้ามใช้ปุ๋ยคอกสดโดยตรงกับส่วนของพืชที่จะนำมาบริโภค ยกเว้นแต่ได้ทำการหมัก หรือทำให้แห้ง หรือผสมคลุกในดินอย่างน้อย 90 วัน ก่อนการเก็บเกี่ยว และไม่มีพื้นที่ใดเป็นเกษตรแบบเคมี

เกษตรอินทรีย์ ซี โอ อาร์ COR : Canada Organic Regime หมายถึง ระบบการผลิตเกษตรอินทรีย์ที่เกษตรกรได้ทำการผลิตและผ่านกระบวนการเกษตรอินทรีย์มามากกว่า 36 เดือน ขึ้นไป หรือ 3 ปีขึ้นไป ห้ามใช้ปุ๋ยคอกสดโดยตรงกับส่วนของพืชที่จะนำมาบริโภค ยกเว้นแต่ได้ทำการหมัก หรือทำให้แห้ง หรือผสมคลุกในดินอย่างน้อย 90 วัน ก่อนการเก็บเกี่ยว และไม่มีพื้นที่ใดเป็นเกษตรแบบเคมี

มาตรฐานสังคม ( Social Standards) มาตรฐานสำหรับกลุ่มผู้ผลิตทาง Naturland ที่ต้องตรวจสอบเป็นพิเศษ เช่น สิทธิของคนงาน ค่าแรงขั้นต่ำ แรงงานเด็ก ความปลอดภัยและสุขภาพในสถานที่ทำงาน เป็นต้น

การจัดการผลผลิตโดยรวม (ฉบับย่อ)

1. ห้ามใช้สารเคมีทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช และฮอร์โมนสังเคราะห์ (ที่มิได้ตรวจสอบจากโครงการ)

2. ห้ามใช้สิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุ์หรือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุ์ในกระบวนการผลิตและแปรรูปเกษตรอินทรีย์

3. ปัจจัยการผลิตในฟาร์ม สารปรุงแต่ง สารช่วยแปรรูปและส่วนผสมในผลิตภัณฑ์อินทรีย์ทุกชนิด ต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปอีก 1 ขั้นตอนของห่วงโซ่ชีวภาพเพื่อให้แน่ใจว่า ไม่ได้มาจากสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุ์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม

4. ในกรณีที่มีความเสี่ยงสูงจากการปนเปื้อนของสารที่ไม่อนุญาตจากแปลงข้างเคียง จะต้องจัดทำพื้นที่หรือปลูกพืชแนวกันชนเพื่อป้องกัน หรือลดการปนเปื้อน

5. ปัจจัยการผลิตสำหรับการผลิตเกษตรอินทรีย์ และที่ไม่ใช่เกษตรอินทรีย์ต้องจัดเก็บแยกกัน และมีสิ่งบ่งชี้อย่างชัดเจน ห้ามเก็บปัจจัยการผลิตที่ไม่อนุญาตไว้ในฟาร์มอินทรีย์

6. ห้ามใช้เครื่องมือที่ใช้ฉีดพ่นที่ไม่อนุญาตในการผลิตเกษตรอินทรีย์ในแปลงที่ไม่ใช่เกษตรอินทรีย์ ในการผลิตเกษตรอินทรีย์

7. ในกรณีที่มีการใช้เครื่องมือเพื่อเก็บเกี่ยวและจัดการหลังการเก็บเกี่ยว จะต้องทำความสะอาดเครื่องมือดังกล่าวให้ละเอียด เพื่อป้องกันการปนเปื้อน และ/หรือการปะปนกันของผลผลิต ก่อนที่จะนำไปใช้ในการผลิตเกษตรอินทรีย์

8. ในการรับรองอาจถูกปฏิเสธ หรือยกเลิกได้ ถ้าตรวจพบว่ามีการปนเปื้อนของสารต้องห้ามในที่ดิน หรือผลผลิต เช่น การตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและสารกำจัดวัชพืช หรือโลหะหนัก

9. ไม่อนุญาตให้เผาซากพืชในการเตรียมดิน และเปิดที่ดิน ยกเว้นแต่เป็นระบบเขตกรรมสิทธิ์แบบพื้นบ้านที่มีการจัดการที่ดี (เช่น การทำไร่หมุนเวียน) และจะต้องเผาซากพืชให้น้อยที่สุด

10. ต้องมีมาตรการในการป้องกันหรือแก้ไขปัญหาการชะล้างหน้าดิน, ดินเค็ม, และความเสี่ยงอื่นที่อาจทำให้หน้าดินสูญเสียและเสื่อมโทรม

11. ห้ามใช้ขยะเมือง รวมทั้งใช้ในการทำปุ๋ยหมัก

12. ห้ามใช้ Chilean nitrate และปุ๋ยไนโตรเจนสังเคราะห์ทุกชนิด รวมถึงปุ๋ยยูเรีย

13. ห้ามใช้อินทรียวัตถุที่มีส่วนผสมจากอุจจาระของมนุษย์มาใช้เป็นปุ๋ยในการผลิตพืชอาหารของมนุษย์

14. ห้ามใช้ปุ๋ยคอกสดโดยตรงกับส่วนของพืชที่จะนำมาบริโภค ยกเว้นแต่ได้ทำการหมัก หรือทำให้แห้ง หรือผสมคลุกในดินอย่างน้อย 30 วัน ก่อนการเก็บเกี่ยว

15. เมล็ดพันธุ์และส่วนขยายพันธุ์พืชที่นำมาปลูกต้องผลิตจากระบบเกษตรอินทรีย์ (ห้ามใช้เมล็ดพันธุ์และ/หรือ ส่วนขยายพันธุ์พืช ที่คลุกผสมสารที่ไม่อนุญาตในทุกกรณี)

16. ห้ามใช้กระสอบที่ผ่านการบรรจุสารเคมีมาบรรจุผลิตภัณฑ์อินทรีย์

17. ห้ามใช้สารเคมีฉีดพ่นในพื้นที่เก็บผลผลิต